จังหวัดไอจิที่ตั้งอยู่เกือบใจกลางประเทศญี่ปุ่นเป็นที่ตั้งของเมืองนาโงย่าและสนามบินนานาชาติชูบุเซ็นแทรร์ (Chubu Centrair International Airport) โดยเป็นแหล่งของน้ำสะอาดอันอุดมสมบูรณ์และสภาพอากาศอบอุ่น นอกจากจังหวัดไอจิจะเป็นแหล่งเพาะปลูกผลไม้ตระกูลส้มอย่างส้มแมนดารินแล้วก็ยังมีผลไม้แสนอร่อยอย่างลูกพลับ องุ่น สาลี่ ลูกพีช มะเดื่อ และอื่นๆ อีกเพียบ เราจึงสามารถเพลิดเพลินกับกิจกรรมเก็บเกี่ยวผลไม้นานาพันธุ์ตามฤดูกาลได้ตลอดทั้งปี

สตรอว์เบอร์รี

  • สตรอเบอร์รี ฤดูเก็บเกี่ยว : ธันวาคม – พฤษภาคม

    จังหวัดไอจิเริ่มเพาะปลูกสตรอเบอร์รีในช่วงศตวรรษที่ 19 ในปัจจุบันมีการใช้เรือนกระจกในการเพาะปลูกผลสตรอเบอร์รี โดยเพาะปลูกและส่งขายตั้งแต่ฤดูหนาวจนถึงฤดูใบไม้ผลิซึ่งหลักๆ มีอยู่ด้วยกัน 4 สายพันธุ์ ประกอบด้วย “ยูเมะโนะกะ” (Yumenoka) ที่ทางจังหวัดพัฒนาขึ้นในปี 2005, “อากิฮิเมะ” (Akihime) , “เบนิฮอปเปะ” (Benihoppe) และ “โทจิโอโตเมะ” (Tochiotome)

วิธีเลือกสตอเบอร์รีแสนอร่อย

  • สตรอเบอร์รีสีแดงสดเงาวาว
  • เห็นเมล็ดบนผลสตรอเบอร์รีชัดเจน
  • ขั้วใบสตรอเบอร์รีสดและมีสีเขียวเข้ม
สายพันธุ์ เอกลักษณ์
ยูเมะโนะกะ (Yumenoka) สตรอเบอร์รีที่มีต้นกำเนิดในจังหวัดไอจิซึ่งมีความหวานและเปรี้ยวอย่างลงตัว
อากิฮิเมะ (Akihime) สตรอเบอร์รีเนื้อนุ่มและไม่เปรี้ยว
เบนิฮอปเปะ (Benihoppe) สตรอเบอร์รีมีรสชาติเปรี้ยวหวานชัดเจนมาก ชื่อพันธุ์นั้นก็เล่นคำจากคำว่า “อร่อยจนกินไม่หยุด” เลยทีเดียว
โทจิโอโตเมะ (Tochiotome) สตรอเบอร์รีมีรสชาติหวานเจี๊ยบและอมเปรี้ยวเล็กน้อย

องุ่น ฤดูเก็บเกี่ยว

  • มิถุนายน – กรกฎาคม (ปลูกในเรือนกระจก), สิงหาคม – กันยายน (ปลูกกลางแจ้ง)

    จังหวัดไอจิเป็นแหล่งเพาะปลูกองุ่นอันอุดมสมบูรณ์ ความจริงแล้วจังหวัดไอจิมีเทคนิคการเพาะปลูกขนาดเป็นแหล่งกำเนิด “เคียวโฮ” (Kyoho) องุ่นผลโตสีม่วงเข้มแบบไร้เมล็ดเลยทีเดียว ในปัจจุบัน ที่นี่เริ่มหันมาเพาะปลูกองุ่นหลากหลายสายพันธุ์มากยิ่งขึ้น เช่น “องุ่นไชน์มัสแคท” (Shine Muscat) เปลือกสีเขียวอ่อนใสและ “องุ่นควีนนีน่า” (Queen Nina) สีแดงสดใส เป็นต้น นอกจากจะมีรสชาติอร่อยแล้วก็ยังมีรูปร่างหน้าตาสวยงามน่ารับประทานด้วย

วิธีเลือกองุ่นแสนอร่อย

  • ก้านองุ่นมีสีเขียวหนา
  • องุ่นมีฝ้าสีขาวปกคลุมทั้งผล
สายพันธุ์ เอกลักษณ์
เคียวโฮ (Kyoho) องุ่นมีสีม่วงเข้มเนื้อแน่น รสชาติหวานเจี๊ยบและน้ำเยอะ
ไชน์มัสแคท (Shine Muscat) องุ่นมีผลสีเขียวอ่อน รสชาติหวานเจี๊ยบเปรี้ยวน้อย โดยมีน้ำตาลสูงถึงประมาณ 20% แถมยังมีเอกลักษณ์อยู่ที่เปลือกบางจนสามารถทานได้ง่ายทั้งเปลือก
ควีนนีน่า (Queen Nina) องุ่นมีสีแดงสดใส รสชาติหวานเจี๊ยบ เปรี้ยวน้อย

ส้ม ฤดูเก็บเกี่ยว

  • มิถุนายน – กันยายน (ปลูกในเรือนกระจก), พฤศจิกายน – มกราคม (ปลูกกลางแจ้ง)

    จังหวัดไอจิเพาะปลูกทั้งส้มเรือนกระจกที่เก็บเกี่ยวในต้นฤดูร้อนจนถึงฤดูใบไม้ร่วง และส้มกลางแจ้งที่เก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่ฤดูใบไม้ร่วงจนถึงฤดูหนาว
    ส้มเรือนกระจกนั้นเพาะปลูกในเรือนกระจกที่ปรับอากาศให้อบอุ่นสบาย จึงสามารถเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่ช่วงต้นฤดูร้อน ส้ม “กามาโกริ อนชิทสึ มิกัง” (Gamagoori Onshitsu Mikan) ของเมืองกามาโกริและ “มิฮามักโกะ” (Mihamakko) ของเมืองมิฮามะนั้นเป็นส้มขึ้นชื่อของญี่ปุ่นเลยทีเดียว เมื่อเปรียบเทียบกับส้มที่เพาะปลูกกลางแจ้งแล้ว ส้มเรือนกระจกจะมีเปลือกบางและเนื้อนุ่มกว่า นอกจากนี้ก็ยังมีน้ำตาลสูง รสชาติหวานเจี๊ยบอมเปรี้ยวอย่างลงตัวอีกด้วย

วิธีเลือกส้มแสนอร่อย

  • เปลือกส้มมีสีส้มเงาวาวและเต่งตึง
  • เปลือกส้มนุ่มและดูชุ่มชื้น

เมล่อน ฤดูเก็บเกี่ยว

  • มิถุนายน – สิงหาคม

    จังหวัดไอจิเริ่มเพาะปลูกเมล่อนในเรือนกระจกตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 โดยเริ่มทดลองปลูกครั้งแรกที่ฮิกาชิมิคาวะ (Higashimikawa) หลังจากนั้น การเพาะปลูกเมล่อนก็เริ่มแพร่หลายไปพร้อมกับกระแสการเพาะปลูกพืชในอาคารแบบต่างๆ จนในปัจจุบันฮิกาชิมิคาวะกลายเป็นแหล่งเพาะปลูกเมล่อนชั้นนำแห่งหนึ่งของประเทศญี่ปุ่นไปแล้ว
    เมล่อนเรือนกระจกสายพันธุ์ขึ้นชื่ออย่าง “เอิร์ลเมล่อน” (Earl’s Melon) นั้นถูกขนานนามว่าราชาแห่งเมล่อน โดยจะปลูกภายใต้ระบบจัดการการเพาะปลูกสุดพิถีพิถันและจำกัดให้เกิดผลเพียง 1 ผล / 1 ต้นเท่านั้น ส่วนเมล่อนกลางแจ้งจะเพาะปลูกเป็นสายพันธุ์เนื้อชุ่มฉ่ำขวัญใจผู้บริโภคทั้งพันธุ์ “ทาคามิ” (Takami) และ “เยลโลว์คิง” (Yellow King)

วิธีเลือกเมล่อนแสนอร่อย

  • ลายตาข่ายของเมล่อนสม่ำเสมอสวยงาม (เมล่อนที่มีลายตาข่าย)
  • เปลือกเมล่อนสีสดใสเงางาม (เมล่อนผิวเรียบ)
  • สามารถเช็คว่าถึงสุกพร้อมรับประทานหรือยังได้จากการเอานิ้วกดตรงก้นเมล่อนจะรู้สึกนิ่มและเมล่อนจะมีกลิ่นหอมมาก
สายพันธุ์ เอกลักษณ์
เอิร์ลเมล่อน (Earl’s Melon) เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “มัสก์เมล่อน” (Musk Melon) มีกลิ่นหอมมาก ฉ่ำน้ำ รสสัมผัสกลมกล่อมนุ่มลิ้น และมีรสชาติหวานละมุน
ทาคามิ (Takami) เนื้อเมล่อนมีสีเขียวสวยงาม ฉ่ำน้ำ รสสัมผัสกลมกล่อมนุ่มลิ้น
เยลโลว์คิง (Yellow King) เมล่อนเปลือกเรียบสีเหลือง เนื้อฉ่ำน้ำ มีรสชาติหวานสดชื่น

ลูกพลับ ฤดูเก็บเกี่ยว

  • กันยายน – ตุลาคม (ฟุเดะกากิ), ตุลาคม – พฤศจิกายน (จิโร่กากิ)

    ลูกพลับเป็นผลไม้ขึ้นชื่อประจำฤดูใบไม้ร่วงของประเทศญี่ปุ่นที่มีการเพาะปลูกมายาวนานตั้งแต่ในอดีต ถึงขนาดว่ามีปรากฏอยู่ในพงศาวดารโบราณของญี่ปุ่นที่เขียนขึ้นช่วงศตวรรษที่ 7 – 8 อย่าง “โคะจิกิ” และบทกวีนิพนธ์ “มันโยชู” เลยทีเดียว และในต่างประเทศเช่นแถบยุโรป ยังสามารถเรียกชื่อลูกพลับตามภาษาญี่ปุ่นว่า “KAKI” ได้อีกด้วย
    จังหวัดไอจิติดอันดับพื้นที่การเพาะปลูกลูกพลับเป็นอันดับ 6 ของประเทศญี่ปุ่น โดยมีพื้นที่เพาะปลูกหลักอยู่ที่เมืองโทโยฮาชิ (Toyohashi) สายพันธุ์ที่นิยมปลูกคือ “จิโร่กากิ” (Jirougaki) ส่วนที่เมืองโคตะ (Kouta) มีการเพาะปลูกลูกพลับเป็นสินค้าขึ้นชื่อประจำเมืองอย่าง “ฟุเดะกากิ” (Fudegaki) ซึ่งตั้งชื่อตามรูปร่างเหมือนปลายพู่กัน (ภาษาญี่ปุ่นคือ Fude)

วิธีเลือกลูกพลับแสนอร่อย

  • เปลือกลูกพลับทั้งหมดจนถึงขั้วมีสีน้ำตาลแกมแดง ผิวลื่นและมีความยืดหยุ่น
  • ขั้วลูกพลับมีสีเขียวสดและไม่มีช่องว่างระหว่างขั้วและผล
  • ผลลูกพลับมีน้ำหนัก
สายพันธุ์ เอกลักษณ์
จิโร่กากิ (Jirougaki) ลูกพลับมีเอกลักษณ์อยู่ที่รสหวานเข้มข้น เนื้อแน่นกรอบ
ฟุเดะกากิ (Fudegaki) ลูกพลับผลเล็กรูปร่างเหมือนกับปลายพู่กัน มีรสหวานเข้มข้น

มะเดื่อ ฤดูเก็บเกี่ยว

  • พฤษภาคม – กรกฎาคม (ปลูกในเรือนกระจก), สิงหาคม – ตุลาคม (ปลูกกลางแจ้ง)

    มะเดื่อเป็นผลไม้ซึ่งเป็นที่รู้จักคุ้นเคยกันดีของผู้คนมาตั้งแต่สมัยโบราณถึงขนาดว่ามีปรากฏอยู่ในคัมภีร์ไบเบิลเลยทีเดียว
    ภายในจังหวัดไอจิเริ่มมีการเพาะปลูกมะเดื่ออย่างจริงจังในช่วงหลังปี 1965 เป็นต้นมา จนในปัจจุบันกลายเป็นแหล่งเพาะปลูกมะเดื่ออันดับ 1 ของประเทศญี่ปุ่นไปเรียบร้อยแล้ว
    ว่ากันว่ามะเดื่อรสชาติหวานอร่อยเป็นเอกลักษณ์มีประโยชน์ต่อทั้งสุขภาพและความงาม โดยอุดมไปด้วยใยอาหาร วิตามิน แคลเซียม แร่ธาตุอย่างธาตุเหล็ก และอื่นๆ อีกมากมาย

วิธีเลือกมะเดื่อแสนอร่อย

  • ผลมะเดื่อมีสีม่วงแดงเงางาม
  • รอยแยกด้านบนผลมะเดื่อไม่ใหญ่จนเกินไป
  • เนื้อมะเดื่อฟู ไม่แข็งจนเกินไป

Click for Fruit Picking Map and Farm Information

แผนที่กิจกรรมเก็บเกี่ยวผลไม้