เกี่ยวกับบลูเบอร์รี่ในจังหวัดกุนมะ

  • บลูเบอร์รี

บลูเบอร์รี่ (ปลายเดือนมิถุนายน-ต้นเดือนสิงหาคม)

ทางตอนเหนือของจังหวัดกุนมะที่เป็นแหล่งผลิตหลักของจังหวัด เนื่องจากอยู่ในระดับที่สูงกว่าน้ำทะเลมาก และมีความแตกต่างในเรื่องของอุณหภูมิตอนกลางวันและตอนกลางคืน จึงเกิดเป็นบลูเบอร์รี่ที่มีรสหวานและอร่อย

โอสึบุโฮชิ
สายพันธุ์ที่พัฒนาขึ้นโดยจังหวัดกุนมะ มีลูกใหญ่ และฉ่ำน้ำ ความพิเศษคือสัมผัสที่เข้มข้นและรสเปรี้ยวที่สดชื่น

อามาสึบุโฮชิ
สายพันธุ์ที่พัฒนาขึ้นโดยจังหวัดกุนมะ มีลูกใหญ่ ความพิเศษคือสัมผัสที่ดีกว่าและรสหวานอันเลอค่า


สัมภาษณ์ผู้ผลิต

ชาวสวนบลูเบอร์รี่ : คานาอิ ฮิเดยูกิ

ผลไม้ที่บ่งบอกถึงการมาเยือนของฤดูร้อนมีหลายอย่าง แต่กลับมีผลไม้อยู่หนึ่งอย่างที่คนจะไม่ค่อยรู้กันว่าฤดูกาลของมันคือช่วงไหน นั่นคือบลูเบอร์รี่ค่ะ อาจเป็นเพราะปริมาณการผลิตในประเทศญี่ปุ่นมีไม่มากเท่าไหร่แค่ 1,000 ตันต่อปี ทำให้บลูเบอร์รี่ที่วางจำหน่ายตามร้านต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ

หากถามว่าฤดูกาลของบลูเบอร์รี่คือช่วงไหน ในจังหวัดกุนมะจะเริ่มตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมิถุนายนไปจนถึงเดือนสิงหาคม จริงๆ แล้วในจังหวัดกุนมะเป็นแหล่งผลิตบลูเบอร์รี่อันดับต้นๆ ของญี่ปุ่น ปริมาณการส่งขายเป็นอันดับ 2 ของประเทศ มีการเพาะปลูกในพื้นที่ภูเขาทางตอนเหนือของจังหวัดเป็นหลัก จังหวัดที่มีสายพันธุ์ออริจินัลที่เพาะเลี้ยงขึ้นมาเองในญี่ปุ่นก็มีแค่จังหวัดกุนมะเท่านั้น

สายพันธุ์ที่ให้ผลใหญ่อย่าง “โอสึบุโฮชิ” “อามาสึบุโฮชิ” เมื่อรวมกับชื่อที่มีเอกลักษณ์ทำให้ได้รับความนิยมอย่างมากตามร้านค้าในจุดพักรถและร้านขายตรงผลผลิตทางการเกษตร

บุคคลที่เรามาเยี่ยมเยือนในครั้งนี้คือคุณคาเนอิ ฮิเดยูกิ ผู้ทำหน้าที่เป็นประธานสหภาพในสหภาพบลูเบอร์รี่เขตนุมาตะ แม้ช่วงที่เราไปสัมภาษณ์จะเป็นช่วงหมดฤดูกาลไม่มีแม้แต่ใบติดต้น แต่ก็ได้รับฟังเรื่องเล่าที่เปี่ยมไปด้วยความหลงใหลในบลูเบอร์รี่มาค่ะ

คุณคาเนอิ ผมปลูกบลูเบอร์รี่ในสวนที่มีขนาด 5,000 เฮกเตอร์ในเขตนุมาตะ บลูเบอร์รี่ที่เพาะปลูกมีหลายสายพันธุ์ เช่น โอสึบุโฮชิที่เป็นพันธุ์เพาะเลี้ยงในจังหวัดกุนมะเอง อามาสึบุโฮชิ ฮายะบายะโฮชิ นอกจากนี้ยังมีสายพันธุ์ต่างประเทศด้วย

ไม่เพียงแต่ทานอร่อยแบบสดๆ เท่านั้น เอาไปทำเป็นน้ำผลไม้ แยม ใส่ในขนม ทำเป็นชา ไปจนถึงสีย้อมผ้าก็ยังได้ เป็นผลไม้ที่มีเสน่ห์มากมายจริงๆ โดยเฉพาะบลูเบอร์รี่ในจังหวัดกุนมะที่มีผลใหญ่และมีรสสัมผัสอร่อย ถึงปริมาณการผลิตเพื่อส่งขายในประเทศจะไม่มาก แต่ก็อยากให้คนรู้จักเพิ่มขึ้นมากกว่านี้ครับ

บลูเบอร์รี่ในสวนของผมปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ทั้งหมด แต่ละลูกแต่ละผลปลูกด้วยความใส่ใจ บลูเบอร์รี่นั้น การเก็บเกี่ยวให้ถูกช่วงเป็นสิ่งสำคัญมาก สิ่งสำคัญคือต้องเก็บหลังจากที่อร่อยแล้วจริงๆ ผมจะเน้นที่คุณภาพ โดยจะเก็บเฉพาะลูกที่สุกเต็มที่ หวานและอร่อยแล้วเท่านั้น ดังนั้นการเก็บเกี่ยวบลูเบอร์รี่จึงเด็ดเองด้วยมือทั้งหมด แม้จะลำบากแต่ก็ไม่อยากทำแบบขอไปที ซึ่งนั่นก็คุ้มค่าครับเพราะบลูเบอร์ในสวนของผมแม้จะนำไปแช่เย็น รสชาติก็ไม่ตกลงเลย

สวนของผมจะเก็บเกี่ยวเสร็จประมาณเดือนกันยายน จากนั้นเราก็เริ่มปลูกต้นใหม่โรยเศษไม้เตรียมดินเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับฤดูหนาว เราจะให้ต้นไม้ได้พักในช่วงฤดูหนาว และเมื่อเข้าฤดูใบไม้ผลิก็จะเข้าไปดูแลเพื่อให้ออกผลมากขึ้น เช่นเด็ดกิ่งส่วนเกินทิ้ง

เดือนมิถุนายนเป็นช่วงที่เริ่มยุ่งมากขึ้น ทั้งขึงตาข่ายกันนกและเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิต เข้าเดือนสิงหาคมก็จะเปิดให้ลูกค้าเข้ามาเก็บบลูเบอร์รี่จากต้นกัน บางส่วนก็บรรจุลงกล่องแล้วฝากขายกับร้านขายตรงในท้องถิ่น มีอะไรอีกไหมนะ อีกอย่างก็เรื่องป้องกันตัวด้วงล่ะมั้ง (หัวเราะ) พอเข้าฤดูร้อนในไร่จะมีด้วงเยอะไปหมด แล้วมันก็ไปติดอยู่กับตาข่ายที่ขึงไว้จนต้องตัดตาข่ายออก

สายพันธุ์โอสึบุโฮชิ อามาสึบุโฮชิ และ ฮายะบายะโฮชิที่คุณคาเนอิปลูกนี้ เทียบกับสายพันธุ์อื่นๆ ในประเทศแล้วถือว่าแปลกเพราะเป็นสายพันธุ์ที่ทางจังหวัดพัฒนาขึ้นมา

คุณคาเนอิ พันธุ์โอสึบุโฮชิก็เหมือนกับชื่อคือมีผลที่ใหญ่มาก (โอสึบุ แปลว่า ผลใหญ่) ขนาดลูกละประมาณ 2 กรัม ใหญ่ประมาณเหรียญ 500 เยนเลยล่ะ และยังมีสัมผัสที่กรอบ ส่วนอามาสึบุโฮชิจะมีขนาดเล็กลงมานิดนึง แต่ก็มีรสหวานดีทีเดียว ส่วนฮายะบาบะโฮชิเป็นสายพันธุ์ที่เก็บเกี่ยวได้เร็วกว่า 2 พันธุ์นี้เล็กน้อย หากถามถึงความพิเศษ ถ้าได้ลองชิมดูจะรู้ครับ แต่ถ้าจะให้พูดสั้นๆ ล่ะก็ ไม่ว่าพันธุ์ไหนก็มีรสชาติเข้มข้น ไม่ว่าจะกินแบบสดๆ หรือจะนำไปบดผสมกับแป้งแล้วอบเป็นเค้กก็จะสัมผัสได้ถึงรสชาติและกลิ่นหอมของบลูเบอร์รี่แน่นอน

เพียงแต่มีเรื่องยากลำบากเรื่องนึงก็คือปลูกยากมาก (หัวเราะ) นี่พูดจริงๆ เลยนะ มันต้องดูแลเยอะมากเลย ถ้าอธิบายละเอียดจะยาวมาก เอาง่ายๆ ก็คือว่ามันอ่อนแอต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ โดยเฉพาะอุณหภูมิต่ำ มีปัญหากิ่งเฉาบ่อยมาก พอเจอปัญหานั้นก็ต้องตัดแต่งกิ่งทุกครั้ง อย่างเลวร้ายที่สุดก็ปลูกใหม่ มันต้องใช้เวลาดูแลมากกว่าพันธุ์อื่นๆ แต่ว่านะมันเป็นพันธุ์ที่มีลักษณะเฉพาะโดดเด่น มีรสหวานและมีผลใหญ่ตามชื่อ แม้จะดูแลยาก แต่ก็อยากให้ทุกคนได้ลองชิมกันจริงๆ

ในฟาร์มของคุณคาเนอิจะเริ่มให้เก็บบลูเบอร์รี่ได้ตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป ในวันเปิดสวนวันแรกจะเชิญเด็กๆ ที่อยู่โรงเรียนอนุบาลใกล้ๆ มาด้วย เด็กๆ ก็ตื่นตาตื่นใจกันยกใหญ่ เราเลยขอถามถึงเคล็ดลับในการเลือกบลูเบอร์รี่ที่อร่อยเวลาไปเก็บผลไม้ในสวนหน่อย

คุณคาเนอิ วิธีเลือกบลูเบอร์รี่อร่อยๆ งั้นเหรอ ให้ดีที่สุดก็คงแนะนำให้ถามคนที่ฟาร์มนั้นล่ะมั้ง เพราะเอาจริงๆ แล้วรสชาติของบลูเบอร์รี่น่ะจะต่างกันไปตามผืนดินที่ปลูก ถึงจะอยู่ในสวนเดียวกันแต่รสชาติไม่เหมือนกันก็มี ถ้าจะให้แยกว่าอันไหนอร่อยกว่ากันคงยาก แต่ที่แน่ๆ อย่างหนึ่งก็คือขอให้เลือกผลที่สุกงอมเต็มที่ ให้ดูว่าผลนั้นกลายเป็นสีฟ้าอมม่วงทั้งลูกไปจนถึงก้านผลรึยัง ถ้าใช่ก็แสดงว่ามันสุกงอมดีแล้ว

ยังมีอีกหลายจุดนะอย่างดูความตึงของผล หรือตำแหน่งของลูกบนต้น ถึงบอกว่าต้องลองถามกับคนที่อยู่ในฟาร์มนั้นๆ ดู แน่นอนว่าถ้ามาที่ฟาร์มของผม ผมก็จะเลือกลูกที่อร่อยและหวานให้ชิมด้วยตัวเองแน่นอน

ช่วงพีคของการเก็บเกี่ยวบลูเบอร์รี่คือฤดูร้อน ใบหน้าของคุณคาเนอิในช่วงนั้นดำสนิทเนื่องจากแดดเผา ทั้งต้องเด็ดด้วยมือ ทั้งขายตรง แต่เชื่อว่าในบลูเบอร์รี่ทุกลูกของคุณคาเนอิคงเต็มไปด้วยความใส่ใจและความหลงใหลอันเร่าร้อนอย่างแน่นอน

คุณคาเนอิ จะกินแบบสดก็ได้ แต่ก็อยากให้ลองเอาไปใช้ทำขนมหรือเค้กดูด้วย ผมเชื่อว่ามันจะต้องอร่อยขึ้นอย่างแน่นอน

บลูเบอร์รี่ที่วางขายตามซูเปอร์มาร์เก็ตส่วนใหญ่จะเป็นของที่ผลิตในต่างประเทศ แต่สำหรับผมคิดว่านี่แหละคือบลูเบอร์รี่ที่แท้จริง เพื่อที่จะให้ทุกคนได้เห็นถึงความดีของมัน ผมอยากจะทำของขึ้นชื่ออันใหม่ของท้องถิ่นที่ทำจากบลูเบอร์รี่ อยากให้ทุกคนมาลองชิมที่กุนมะ และรับรู้ถึงความอร่อยที่แท้จริงของบลูเบอร์รี่กันให้ได้ครับ



ชื่อฟาร์ม ฟาร์มบลูเบอร์รี่มาซะเอ็น (Blueberry Farm Masaen)
เบอร์โทรศัพท์ 0278-22-4439
ที่อยู่ 3559-15 Usunemachi, Numata, Gunma

View on Google Maps